thaiskyhost.com=>
ประสบการณ์ฝึกสมาธิ
| |||||||
ประสบการณ์ฝึกสมาธิ
ประสบการณ์ สมาธิ และแสงสว่างในสมาธิ มีจริงหรือไม่?
ประสบการณ์ สมาธิ และแสงสว่างในสมาธิ มีจริงหรือไม่? รายละเอียดบันทึกวันที่ : 18/12/2560 สมาธิและแสงสว่าง มันจะจริง เมื่อคุณได้เห็นมันด้วยตนเอง มันจะไม่จริง เมื่อคุณไม่เห็นมันด้วยตัวคุณเอง จากเดิมที่ผมเคยด่วนสรุปไปแล้วว่า การนั่งสมาธินั้นมันจะไม่เห็นแสงสว่าง จะมีแต่จิตที่สงบเท่านั้นถึงจะเป็นสมาธิที่สมบูรณ์แบบ แต่ความจริงแล้วในสมาธิมีอีกหลายเรื่องราวที่ผมยังไม่รู้จริงเห็นแจ้ง ดังนั้นการด่วนสรุปไปเป็นสิ่งที่ไม่ดีเลย ช่วงหลังๆมานี้ผลของการปฏิบัติของผมนั้นทำให้ผมได้เข้าสมาธิที่เกิดแสงสว่างที่มาก จนทำให้ผมไม่สงสัยเลยว่าแสงสว่างในสมาธินั้นมีอยู่จริงๆ หลายๆคนที่ปฏิบัติการนั่งสมาธิมักจะถกเถียงกันว่า สมาธิมีแสงสว่างมั้ย บ้างก็ว่ามีแสงสว่างในตอนที่จิตสงบลงสู่ฌาน บ้างก็ว่านั่งสมาธิจนสงบแล้วต้องไม่มีแสงสว่างใดๆปรากฎ ถ้ามีถือว่าจิตยังไม่สงบ ต่างคนต่างก็ยกเหตุผลและประสบการณ์ที่ตนพบเจอ ทำให้คนที่เข้ามาศึกษาในเรื่องของสมาธิต่างสับสนและไม่รู้ว่าใครถูก ใครผิดกันแน่ ผมเองก็เป็นคนนึงที่เรียนรู้ทั้งสมาธิที่ไม่มีแสงสว่างและสมาธิที่มีแสงสว่าง ซึ่งผมพอจะให้คำตอบจากประสบการณ์ของผมเองซึ่งอาจเป็นแนวทางได้บ้าง ไม่มากก็น้อย โดยจะสรุปสั้นดังนี้ A : เหตุผลที่นั่งสมาธิแล้วเกิดแสงสว่างเพราะว่า... คุณนั่งสมาธิแบบรู้กว้างๆ , รู้ทุกสรรพสิ่งที่เกิดขึ้นกับร่างกายและจิตใจ โดยสภาวะรู้จะเป็นกลางๆ รู้ว่าทุกอย่างมันแยกกันอยู่ ของใครของมัน และทุกสรรพสิ่งมันก็เป็นของมันอย่างนั้นแหละ B : เหตุผลที่นั่งสมาธิแล้วไม่เกิดแสงสว่าง เพราะว่า... คุณนั่งสมาธิแบบเพ่ง , แบบจดจ่อ , แบบให้สภาวะรู้แคบๆอยู่กับคำภาวนา , ลมหายใจ หรือสิ่งในสิ่งหนึ่งที่คุณยึดอยู่ และจดจ่อมันไปตลอดจนจบการนั่งสมาธิ ------------------ A : ประสบการณ์นั่งสมาธิ "เห็นแสงสว่าง" ของผม และจากนี้ผมจะเล่าประสบการณ์ในการนั่งสมาธิที่เห็นแสงสว่างของผมนะครับ โดยการนั่งสมาธิของผมจะอยู่ที่ 45นาที - 1ชั่วโมงครึ่ง โดยประมาณ และเมื่อนั่งไปสักพักน่าจะประมาณครึ่งชั่วโมงได้แสงสว่างมันจะเริ่มปรากฎให้เห็นแบบน้อยๆ จนรู้สึกได้ และเมื่อไหร่ที่เราสงสัยในแสง แล้วเราไปเพ่งที่แสง มันก็จะค่อยๆหายไป ยิ่งสงสัยยิ่งหาย ดังนั้นผมจึงเอาแสงมาเป็นเครื่องฝึกฝนต่อจากการรู้ลมหายใจ โดยเมื่อแสงปรากฎผมจะทิ้งการรู้ลมหายใจเข้าออก และมาตามรู้แสงแทนครับ การรู้แสงไม่ใช่การเพ่ง แต่การยอมรับตามจริงที่เราเห็น แสงมันจะสว่างก็รู้และยอมรับตามจริงว่ามันสว่าง แสงมันหายไปก็รู้และยอมรับตามจริงว่ามันหายไป มันจะเกิดๆดับๆสลับกันไปครับ ให้เรารู้ความสว่างเฉยๆครับไม่ต้องไปอยากเร่งแสงหรือไปอยากสงสัยอะไร ถ้าสภาวะรู้ของเราเป็นกลางอย่างต่อเนื่อง แสงมันจะยิ่งจ้ามากๆจนเปลือกตาของคุณดิ้นระริก หรืออาจจะรู้สึกว่าแสบแต่ก็ได้ครับ (แต่จริงๆแล้วมันไม่แสบตานะครับ มันเป็น สัญญาขันธ์ ของเราเองว่าเจอแสงจ้าแล้วต้องแสบตา ให้รู้ตามจริงไปครับเดี๋ยวจิตกับร่างกายก็ปรับตัวเข้ากันได้เอง) ถึงแม้ผมจะนั่งสมาธิแล้วเห็นแสงสว่าง ผมก็ยังไม่เชื่อในสิ่งที่เห็นครับ ผมจะพยายามพิสูจน์ให้ถึงที่สุด โดยการนั่งสมาธิตอนกลางคืนและปิดไฟในห้องให้มืดทั้งหมดครับ และแล้วผมก็ได้พิสูจน์ว่าแสงในสมาธิมีจริงหรือไม่? เราคิดไปเองมั้ย ถ้ามืดทึบขนาดไม่มีแสงเลย ตอนเราหลับตานั่งสมาธิจะเห็นแสงอีกหรือไม่? และแล้วคำตอบก็ปรากฎชัดต่อหน้าต่อตาครับ แสงสว่างนั้นมันทำให้เราสามารถยืนยันได้ว่าห้องมืดทึบแต่เรากับเห็นแสงสว่างมากมายจนไม่อาจปฏิเสธได้ว่าแสงสว่างในสมาธินั้นไม่มี และไม่ใช่แค่ 1 - 2 วันที่ผมนั่งสมาธิแล้วเห็นแสงสว่าง แต่ผมเห็นทุกครั้งที่ปิดไฟนั่งสมาธิ มันจะเริ่มเห็นเวลาผ่านไปแล้วประมาณครึ่งชั่วโมงตอนที่จิตเริ่มสงบลง แสงสว่างในสมาธิจะแปรผันตรงกับสภาวะรู้ที่เป็นกลาง นั่นคือยิ่งจิตสงบเท่าไหร่แสงก็จะสว่างเท่านั้น โดยหลักการคือเราจะไม่สงสัยสิ่งใดเลย เห็นแบบในก็แบบนั้น ให้รู้เป็นกลางๆ แสงจ้าก็คือจ้า แสงหายก็คือหาย ไม่ต้องไปอยากได้หรืออยากเร่งแสงสว่าง ถ้าเราจับจุดตรงนี้ได้แสงว่างมันจะจ้าขึ้นเรื่อยๆ จนคุณจะรู้สึกได้เลยว่าแสงมันมาจากทุกทิศทางในห้องมืดนั้น เหมือนเรานั่งในห้องที่โดนสปอตไลท์ฉายอยู่ และที่สว่างมากสุดของผมก็คือความสว่างจ้า คล้ายเอาตาจ้องแสงไฟนีออนสีขาวใกล้ๆดวงตาเลย แสงสว่างที่พบเจอจะเป็นสีขาว บางที่ก็สว่างจ้า บางทีก็นวลๆตา บางที่ก็สลัวๆ แสงพวกนี้เราควบคุมมันไม่ได้ มันเกิดก็ด้วยเหตุ(จิตสงบแบบสภาวะรู้) , มันหายไปก็ด้วยเหตุ(สงสัย , อยากได้ , ฟุ้งซ่าน) ลักษณะของแสงสว่างมันไม่ใช่เป็นดวงๆ แต่มันจะสว่างทั้งขอบเขตของการมองเห็น 180 องศา คือเต็มสองลูกตาของเรา(ความรู้สึก) แต่บางครั้งมันก็เกิน 180 องศา คือรู้สึกถึงแสงสว่างจากรอบทิศทาง ด้านหน้า , ด้านบน , ด้านข้าง , ด้านหลัง แสดงภาพตัวอย่างที่ผมเห็นแสงในสมาธิ ผมไม่รู้ว่าคนอื่นเห็นเหมือนผมมั้ย (เนื่องจากสมาธินั้นหลากหลาย) ที่ทำภาพให้ดูเพื่อเป็นกรณีศึกษา + แชร์ประสบการณ์ ไม่ได้มุ่งเน้นให้ยึดติดในแสงสว่างครับผม เมื่อปิดไฟในห้องเพื่อให้มืดทั้งหมด ------------------------------------------------------------- แสงเริ่มสว่างนิดๆ แล้วหายไปแบบรวดเร็ว ------------------------------------------------------------- แสงเริ่มกระจายตัวแบบเห็นหมดทั้งภาพ ------------------------------------------------------------- แสงสว่างเริ่มจ้าขึ้นมาอีกระดับ และค่อยๆสว่างขึ้นและหรี่ลงสลับกันไปตามกำลังจิตที่สงบ แสงสว่างเต็มที่ก็จะขาวๆนวลๆ ดังรูปนี้นะครับ ผมพยายามเลือกโทนสีที่ใกล้เคียงที่สุดเท่าที่จำได้ครับผม ซึ่งภาพที่ได้จะเห็นเต็มสองตาคล้ายกับว่าไม่มีขอบเขตและแหล่งกำเนิดแสงครับผม แต่ถ้าภาพจริงในสมาธิมีจะมีเรื่องของความสว่างเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยนะครับ ในที่ผมนำเสนอก็แสดงได้แค่เพียงโทนสีของแสงสว่างครับ ------------------------------------------------------------- แสงสว่างที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม อาจจะเป็นการที่สมองปรุงแต่งขึ้นตอนที่ร่างกายสงบ หรืออาจจะเป็นที่จิตของเราไปรับรูปบางอย่างที่ตาเนื้อมองไม่เห็นก็ได้ แต่ทั้งหมดนี้เราก็ไม่ต้องไปยึดติดอะไร มันก็เป็นของมันอย่างนั้นแหละ แค่เรารู้ว่าแสงสว่างที่มากนั้นคือสมาธิที่ก้าวหน้าตามความสว่างของแสงก็พอ เหตุผลเพราะเวลาเราเห็นแสงแล้วเกิดความสงสัยหรืออยากได้ความสว่างเพิ่มขึ้น แสงจะหายทันที แต่ถ้าเราเป็นกำหนดสภาวะเป็นรู้กลางๆ รู้กว้างๆ แสงมันจะคงอยู่และสว่างขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงจิตที่สงบขึ้นเรื่อยๆด้วยเช่นเดียวกัน จิตที่เปิดกว้างนอกจะรับรู้แสงสว่างที่ชัดเจนจนหายสงสัยในแสงแล้ว ยังทำให้เรารับรู้สิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นในขอบเขตของร่างกายได้ชัดจัด ------------------ B : ประสบการณ์นั่งสมาธิแล้ว "ไม่เห็นแสงสว่างของผม" ก่อนหน้านี้ผมได้ฝึกสมาธิแบบจดจ่อและตั้งใจมากๆ ซึ่งผมตั้งใจไว้อย่างดีเลยว่าทุกสายลมหายใจเข้าออกนั้น ผมจะดูลมหายใจเข้าออกตลอดสายโดยไม่ให้พลาดแม้แต่ลมหายใจเดียว โดยการกำหนดการดูสายลมหายใจที่เริ่มจากวิ่งผ่านเข้าไปที่รูจมูก ผ่านหลอดลมและเข้าไปในปอด จนกระทั่งดูลมที่อยู่ในปอดถ่ายเทออกมสู่ภายนอกรูจมูก ถึงแม้จะเกิดสภาวะแผ่วเบาจนลมหายใจเกือบจะหายไป จนต้องเปลี่ยนเป็นดูสิ่งอื่นๆแทนเช่น ความวางเฉย เป็นต้น ก็ยังมีอาการที่เรียกว่าเพ่งอยู่ การเพ่งก็คือการเฝ้าดูอย่างจดจ่อ โดยใช้กำลังของสมาธิที่แน่วแน่ ไม่ยอมให้สิ่งที่ตั้งใจไว้คลาดเคลื่อน ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้นั้นจิตจะปิดแคบลง จะรู้แค่เฉพาะส่วนที่ต้องการเท่านั้น เมื่อจิตปิดแคบสภาวะรู้ก็ถูกปิดกั้นเช่นเดียวกัน ทำให้เราไม่รับรู้สิ่งอื่นใดนอกจากสิ่งที่เรากำลังเพิ่งอยู่ ดังนั้นแสงสว่างก็จะไม่ปรากฎให้เห็นเลย จะอยู่กับสมาธิที่เป็นความมืดสนิท ไม่มีอะไรที่เป็นแสงสว่างให้คุณเห็นอย่างแน่นอน ------------------- ดูรายละเอียดทั้งหมด -> เมื่อวันที่ : 2021-11-18 12:23:57
นั่งสมาธิแล้วเห็นแสงสว่าง แสงดวงกลมๆ วิ่งไปมา คืออะไร
นั่งสมาธิแล้วเห็นแสงสว่าง แสงดวงกลมๆ วิ่งไปมา คืออะไร รายละเอียดหลายๆท่านที่ฝึกสมาธิจนเริ่มเข้าที่เข้าทาง จิตนิ่งสงบ สงบนิ่งทั้งกายและใจ และกำลังตั้งมั่นอยู่กับกรรมฐานของตนอย่างเช่น ลมหายใจหรือพุทโธ แต่อยู่ๆก็ปรากฎแสงสว่างเป็นดวงๆวิ่งไปวิ่งมาให้เราเห็น แสงเหล่านี้สวยงาม เป็นดวงกลมๆบ้าง เป็นดวงๆมีเส้นสายแสงสีบ้าง มีดวงเดียวบ้าง มีหลายดวงบ้าง เห็นแล้วก็น่าตื่นตาตื่นใจจนรู้สึกว่าอยากเห็นมันอีก ในใจลึกๆก็แอบนึกไปว่าสมาธิของเราก้าวหน้าแล้ว แท้ที่จิตแล้วส่วนตัวเชื่อว่าแสงดวงกลมๆวิ่งไปวิ่งมาให้เราเห็นนั้นเป็น เป็นการปรุงแต่งของจิต ซึ่งมักจะอาศัยเหตุปัจจัยในช่วงที่จิตเราเริ่มสงบนิ่งพอประมาณก็จะทำให้แสงดวงกลมๆเหล่านี้เกิดขึ้นได้ ซึ่งการเกิดขึ้นในแต่ละรอบของการนั่งสมาธินั้น มันจะไม่เกิดขึ้นในรูปแบบเดิม อาจจะมีการเปลี่ยนรูปทรงและสีสันตามสภาวะของกำลังจิตในขณะนั้น และแสงกลมๆวิ่งไปวิ่งมานั้นมันยังสามารถมารพัฒนาต่อเป็นแสงสว่างสีขาวนวลเต็มจอภาพประสาทตา แต่ทำให้เรารู้สึกได้ถึงแสงสว่างที่เหมือนกับสปอตไลท์มาส่งรอบทิศทางแบบ 360 องศา และถึงแม้จะปิดไฟนั่งในห้องมืดสนิทเมื่อแสงสีขาวแบบนี้ปรากฎขึ้นมา คุณจะไม่มีความรู้สึกว่านั่งอยู่ในห้องมืดอีกเลยแต่จะทำให้คุณรู้สึกได้แบบว่ากำลังนั่งอยู่ในที่สว่างจ้าแบบใจสงบและมีความสุข แต่สุดท้ายแสงสว่างเหล่านั้นก็ยังไม่พ้นอำนาจการปรุงแต่งของจิต กลับมาที่แสงดวงกลมๆ เล็กๆ วิ่งๆไปมาในนิมิต แสงเหล่านี้หากคุณเพิ่งได้สัมผัสและพบเจอใหม่ๆ ก็จะมีอาการตื่นเต้นอยากได้อยากเห็นอีก และเมื่อใดก็ตามที่คุณมีความรู้สึกพยามเพ่งด้วยความอยากแสงนั้นก็จะหายวับกลายเป็นฉากมืดๆเหมือนก่อนที่แสงจะปรากฎ และเมื่อไหร่ที่คุณเลิกคิดถึงแสงกลมวิ่งๆนั้น และทำสมาธิต่อด้วยจิตใจที่สงบและตั้งมั่น แสงกลมๆนั้นก็จะปรากฎให้คุณเห็นอีกครั้ง เหตุใดการเพ่งแสงมันจึงหายไป , เหตุใดเราถึงไม่สามารถทำให้แสงเหล่านั้นค้างอยู่ได้ สาเหตุที่คุณไม่สามารถค้างภาพแสงเหล่านั้นไว้ได้ก็เพราะว่า คุณมีความอยากที่จะให้แสงอยู่กับคุณ และความอยากเป็นกิเลสเป็นข้าศึกของสมาธิ เมื่อใดก็ตามที่คุณเกิดความอยาก ความคาดหวัง ความต้องการในแสงสว่าง จิตของคุณจะเริ่มปรุงแต่งทับซ้อน เริ่มฟุ้งซ่าน ทำให้ระดับกำลังจิตลดลงกำลังสมาธิลดลงจนทำให้นิมิตแสงสว่างหายไป หลายๆท่านรวมถึงผมเองที่เคยทำสมาธิแล้วเห็นแสงสว่างดวงกลมๆครั้งแรก ก็จะมีความคิดหวังว่าในการนั่งสมาธิครั้งต่อไป ฉันนี้แหละจะต้องเห็นแสงสว่างให้ดีอีก แต่เมื่อเอาเข้าจริงๆกลับทำไม่ได้อย่างที่ใจต้องการ แสงสว่างไม่ปรากฎและกลับทำให้จิตใจฟุ้งซ่านทำให้การทำสมาธิไม่สงบ ดังนั้นหากท่านใดที่เป็นเหมือนผมจะแก้ได้โดยการตั้งใจไว้ก่อนนั่งสมาธิว่า เราจะไม่สนใจแสงสว่าง ถ้ามันเห็นก็ปล่อยให้เห็น ถ้าไม่เห็นก็ไม่เป็นไร เห็นก็ได้ไม่เห็นก็ได้ ทำแบบนี้แล้วแสงสว่างจะปรากฎและทำให้เราไม่คาดหวังในนิมิตแสงสว่าง แสงสว่างที่เราพบเจอในนิมิตนั้นยังไม่ใช่หนทางที่จะทำให้สมาธิก้าวหน้า แต่บางครั้งแสงเหล่านั้นกลับเป็นเครื่องขัดขวางมิให้เราทำสมาธิก้าวหน้าไปอีก เพราะใจเราจะมาห่วงแต่อยากเห็นแสงสว่างนั่นเอง ดังนั้นการทำสมาธิแล้วเห็นดวงแสงสว่างกลมๆ เล็กๆ วิ่งๆ ไปมานั้น ส่วนตัวผมเชื่อว่าคุณทำสมาธิได้ดีแล้ว แต่คุณต้องปล่อยว่างในแสงเหล่านั้นไม่ยึดติดไม่คาดหวังแสงมันจะค่อยพัฒนาตัวเองให้สวยงามและมาหลอกล่อเราอยู่เรื่อยๆ ถ้าเรายืนกลางว่าฉันไม่สนใจ เห็นก็ช่าง ไม่เห็นก็ช่าง ทำใจเป็นกลางๆยอมรับในสิ่งที่เห็นเมื่อมันเกิด ยอมรับในสิ่งที่เห็นเมื่อมันหายไป แบบนี้จะทำให้คุณทำสมาธิก้าวหน้าได้อย่างแน่นอน ดูรายละเอียดทั้งหมด -> เมื่อวันที่ : 2021-11-18 12:23:21
แชร์ประสบการณ์ นั่งสมาธิ ให้ได้นานๆ + พัฒนาระดับความก้าวหน้าของสมาธิและสภาวะรู้
แชร์ประสบการณ์ นั่งสมาธิ ให้ได้นานๆ + พัฒนาระดับความก้าวหน้าของสมาธิและสภาวะรู้ รายละเอียดบันทึกวันที่ : 7/10/2560 แชร์ประสบการณ์ นั่งสมาธิ ให้ได้นานๆ + พัฒนาระดับความก้าวหน้าของสมาธิและสภาวะรู้ ผมเชื่อว่าทุกคนที่ฝึกสมาธิก็อยากฝึกสมาูธิให้ได้นานๆ อยากให้มีความก้าวหน้าของสมาธิในทุกๆวันที่ทำการฝึกฝน ผมเองก็เช่นกัน ที่ฝึกสมาธิทุกวันโดยอยากให้มีความก้าวหน้าของสมาธิ ซึ่งนั่นก็คือ การนั่งสมาธิให้ได้นานๆ อาจจะเป็นคำตอบที่ดีก็ได้ แต่ใครจะไปรู้ ว่าการนั่งสมาธิให้นานๆเกินกำลังของร่างกายและขีดจำกัดนั้น กลับทำให้สมาธิถดถอยลงตามกำลังของร่างกายที่จะทนความปวดเมื่อยไหว เมื่อร่างกายยิ่งเมื่อยเท่าไหร่ สภาพของจิตที่สงบจะุถูกบั่นทอนและเมื่อยล้าไปตามๆกัน ไม่ว่าผมหรือใครๆที่เคยฝึกสมาธิมาก็ต้องเจอปัญหานี้เหมือนๆกันอย่างแน่นอน วันนี้ผมมีเทคนิคมาแชร์กัน ที่จะสมาธิทำให้เรานั่งสมาธิได้นานขึ้นและสามารถพัฒนาสมาธิที่สงบ + สภาวะรู้ที่ชัดเจนได้ยิ่งขึ้น ------------------ เกริ่นนิดหน่อย ผมเคยสงสัยว่า ทำไมเราฝึกสมาธิมาเป็นปี แต่เราไม่เคยนั่งเกิน 1 ชั่วโมงเลย อาจะจะมีฟลุ๊คบ้าง ก็แค่ 1 ชั่วโมงนิดๆ แต่มันเป็นการนั่งแบบฝืนทนให้มันได้เวลานานๆมากกว่าที่จะได้รู้อะไรกว่านั้น อะไรคือกำแพงที่กั้นเราไม่ให้เรานั่งนาน นั่งวิเคราะห์อยู่สักพัก ก็เดาว่าน่าจะเป็นความปวดเมื่อยนี่เอง ดังนั้น เราจะมาทำลายกำแพงตรงนี้กัน -------------------- เทคนิคการนั่งสมาธิให้ได้นานๆ เกินขีดจำกัดเดิมที่เราเคยนั่งมา - เริ่มนั่งสมาธิกันเลย - เข้าใจตรงกันก่อนครับว่า...ฐานของสมาธิในการฝึกของผมคือการกำหนดรู้ลมหายใจ (ส่วนใครจะพุทโธก็ได้ แล้วแต่สะดวกนะครับ) - ผมเริ่มจากรู้ลมหายใจ เข้า - ออก (ด้วยการรู้ ไม่ใช่การเพ่ง) - ลมหายใจเข้าก็รู้ ลมหายใจออกก็รู้ โดยไม่ไปดูสายลมหายใจ แต่แค่รู้ว่าเรากำลังหายใจ ยาวบ้าง สั้นบ้าง ก็รู้ไปอย่างนั้นแหละ - ลมหายใจนั้นไม่ใช่เรา แต่กำลังถูกรู้ด้วยวิญญาณขันธ์ (กำหนด รู้ ลมหายใจ) - รู้ลมหายใจแบบต่อเนื่อง ด้วยสภาวะรู้ที่เป็นกลาง ไม่มีการเร่ง ไม่มีการบังคับ ทุกอย่างให้เป็นของมันอย่างนั้น เป็นไปตามธรรมชาติ - ถ้าทำถูกต้อง คุณจะเข้าใจด้วยตัวคุณเอง แล้วคุณจะกำหนดสภาวะรู้แยกขันธ์ออกได้อย่างชัดเจน ลมหายใจ และ การรับรู้ (รูปขันธ์ และ วิญญาณขันธ์) - แน่นอนว่า การนั่งสมาธิ มันต้องมีการนึกๆ คิดๆ ขึ้นมา ทำให้เราเกิดความฟุ้งซ่าน - หากเกิดความฟุ้งซ่าน คิดถึงคนรัก , คิดถึงศัตรู , คิดถึงเรื่องงาน , คิดถึงเรื่องเงิน , คิดถึงเรื่องไปเที่ยว , และคิดถึงอีกมากมาย - ให้ทิ้งการรู้ลมหายใจ (ทิ้งคือการไม่กำหนดรู้ลมหายใจ ปล่อยให้มันหายใจไปอย่างนั้นแหละ) - แต่เรามากำหนดรู้ที่ความฟุ้งซ่านแทน ให้เรารู้ว่าเรากำลังฟุ้งซ่านอยู่ เห็นการปรุงแต่งของจิตที่มันกำลังก่อตัวแล้วสร้างเป็นเรื่องราว โดยเราไม่เข้าไปยุ่งกับมัน แต่เรารู้อยู่ - จิตมันปรุงแต่งของมันเอง มันไม่ใช่เรา แต่มันกำลังถูกรู้ (วิญญาณ รู้ สังขารขันธ์) - ตามธรรมชาติ ถ้ามันถูกรู้ มันจะแสดงความจริง คือความปรุงแต่งของจิตมันจะค่อยๆหายไป (เราก็ได้ชื่อว่าเป็นผู้เห็นการเกิดดับของ "สังขารขันธ์" แล้ว) - เมื่อความฟุ้งซ่านหายไปแล้ว ให้กำหนดรู้ที่ลมหายใจต่อเหมือนเดิมที่กล่าวไว้ข้างต้น - มันจะเป็นสลับแบบนี้ไปเรื่อยๆ โดยที่เราไม่ต้องไปยึดติดหรือกังวล คืออะไรเด่นให้เรารู้อันนั้นก่อน พอมันหายไปเราก็กลับมาที่ฐานของเรา นั่นคือรู้ลมหายใจ - อีกอุปสรรคนึง นั่นคือเสียงรบกวนจากภายนอก ก็ทำเหมือนกันนะครับ หากเสียงมันดังรบกวนจนเด่นชัด เราก็รู้มัน เสียงที่ได้ยินไม่ใช่เรา แต่มันกำลังถูกรู้ - ถ้าเสียงไม่รบกวนเราแล้ว ก็กลับมาที่ฐานของเรา คือรู้ลมหายใจ ---- ** จบพื้นฐานแล้วนะ ต่อมาจะสอนการกระโดดข้ามกำแพงในการนั่งสมาธิให้นานกว่าเวลาที่เราเคยนั่ง เป็นการทำลายสถิติตัวเองแบบมีสติรู้ - นั่งไปนานๆ เริ่มจะเมื่อยแล้วนะ เหน็บชาบ้าง เมื่อยขาบ้าง เมื่อยก้นบ้าง และอีกต่างๆมากมาย - ให้รู้ไว้เลยนั่นแหละของดี เราจะเอาสิ่งเหล่านั้นมาพิจารณา เพื่อพัฒนาสภาวะรู้และการแยกขันธ์ให้ชัดเจน - เมื่อเราเมื่อยตรงไหน ให้เราโฟกัสที่ตรงนั้น (เหมือนกับเราล็อคเป้าหมายอ่ะนะ) - ทิ้งการกำหนดรู้ลมหายใจและอื่นๆทั้งหมด และมากำหนด(รู้)ความรู้สึกที่ความปวดตรงนั้น - วิธีกำหนดรู้คือ ความปวดไม่ใช่เรา มันปวดก็รู้ว่าปวด ความปวดกับร่างกายก็คนละส่วนกัน มันก็เป็นของมันอย่างนั้นแหละ (ความรู้สึกปวด จัดอยู่ใน หมวดหมู่เวทนาขันธ์) - ให้เราแยกให้ออก แรกๆอาจจะยากสักนิด แต่ถ้าตั้งใจแล้ว ต้องทำได้แน่ๆ ถ้าทำได้เราจะสามารถข้ามขั้นในการแยกสภาวะรู้ได้อย่างชัดเจนเลย (สมาธิที่เห็นนิมิตแสงสว่างชัดเจนผมพัฒนามาจากการฝึกตรงนี้แหละ) - ถ้ากำหนดสภาวะรู้ผิดวิธี มันจะกลายเป็นเราปวด และเราจะทนไม่ไหว แล้วเราก็นั่งสมาธิแบบทนทุกข์ทรมานกับความปวดนะครับ (ตรงนี้สำคัญมากๆ) - ถ้าทำถูกต้อง ความปวดจะไม่ใช่เรา มันจะแสดงความปวดให้เห็น มันจะมีระดับที่เปลี่ยนแปลงไม่เท่าเดิม ความปวดไม่คงที่ (แล้วคุณจะพบอะไรดีๆ ในการฝึกแยกสภาวะรู้จากตรงนี้) - นี่ไม่ใช่การนั่งทนความปวดนะ แต่เป็นการกำหนดรู้ความปวด ที่แยกออกมาจากกาย ความปวดก็เป็นความปวด ไม่ใช่ร่างกาย และไม่ใช่เราด้วย - เมื่อความปวดมันแสดงความจริง คุณจะเห็นได้เลยว่า ความปวดตรงที่โฟกัสมันหายไป ทั้งๆที่ก่อนหน้านี้ปวดมากมาย (ใครถึงตรงนี้แล้วจะรู้เองนะ) - แต่อย่าเพิ่งดีใจว่าความปวดมันจะหายไป มันจะหายไปพักนึง แต่บางทีก็นานนะ เดี๋ยวมันก็กลับมาอีก เราก็ตามรู้กันไป เพราะนี้คือการฝึกนี่นา - และแน่นอนว่าความปวดมันไม่ได้ปวดอยู่ที่เดียวแน่นอน ให้เราโฟกัสตรงที่ปวดที่สุดก่อน หรือมันปวดรวมๆ เราก็ตามกำหนดรู้ความปวดแบบรวมๆก็ได้ แล้วแต่ใครจะถนัดแบบไหน - และถ้าความปวดหายไป ให้กลับมาที่ฐานของสมาธิคือกำหนดรู้ลมหายใจ หรือกรณีลมหายใจแผ่วเบามากๆ ก็ไม่ต้องไปควานหา ให้รู้สภาวะอะไรก็ที่ที่เด่นที่สุด ถ้าไม่มีก็กำหนดรู้การวางเฉย - ถ้าทำตรงนี้ได้ แน่นอนว่าคุณสอบผ่าน และทำลายสถิติการนั่งสมาธิในครั้งก่อนๆของคุณได้ทั้งหมด พร้อมกับได้สภาวะรู้ที่ชัดเจนมากว่าเดิมหลายๆเท่า ----** สาระ เพิ่มเติม ความรู้สึกปวด คือ เวทนา ความรู้ ว่ารู้สึกปวด คือ จิต พยายามแยกให้ออกนะครับ มันคือคนละตัวกัน ----- ** สิ่งที่น่าสนใจ - เวลาที่ความปวดถูกรู้ เรากลับไม่เป็นทุกข์ เราพอใจที่จะรับรู้ความปวดนั้นแบบสงบจิตสงบใจ - ความปวด ไม่ทำให้เราฟุ้งซ่าน ทำให้จิตเราพร้อมกำหนดอยู่ที่ตรงนั้นจนเกิดสมาธิที่แนบแน่น - ความปวดก็ยังแสดงความไม่เที่ยง สามารถหายไปได้ เพียงเรากำหนดรู้ (ทั้งๆที่การนั่งท่าเดิมๆโดยไม่ขยับเลยมันน่าจะต้องปวดยิ่งขึ้นมากกว่าเดิมสิ) - จะเกิดอะไรขึ้นถ้าเราฝึกแยกสภาวะรู้แยกความปวดเมื่อยจากร่างกายจนชำนาญ (คิดเล่นๆว่า ถ้าวันนึงเราป่วย หรือบาดเจ็บหนักๆมาก เราก็จะไม่ทุกข์ทรมานกับความเจ็บปวดจนเกินไป ความเจ็บปวดยังอยู่เหมือนเดิม แต่เรารับรู้ด้วยจิตใจที่สงบนิ่ง) - การฝึกนี้ถ้าคุณทำได้จริงๆ การฝึกสมาธิรอบถัดๆไป คุณกำหนดสภาวะรู้ต่างๆ เช่นลมหายใจ และความฟุ้งซ่าน ได้อย่างชัดเจนและแม่นยำมากยิ่งขึ้น - การฝึกนี้ถ้าทำถูกต้องจริงๆ คุณสามารถเห็นนิมิตแสงสว่างได้จากการฝึกสมาธิครั้งถัดๆไป (ผมก็เห็นแสงสว่่างจากการฝึกนี้แหละ) - การฝึกนี้ถ้าทำถูกต้องจริงๆ คุณจะไม่รำคาญสิ่งใดเลยในขณะนั่งสมาธิ แม้แต่เสียงรบกวนก็ตามแต่ คุณพร้อมที่จะยอมรับแล้วนำมาพิจารณาให้การการพัฒนาในด้านของสมาธิต่อไปเรื่อยๆ หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่กำลังฝึกสมาธิและต้องการพัฒนาให้สมาธิของคุณมีความกว้างหน้าแบบสามารถต่อยอดไปได้อีกครับผม ดูรายละเอียดทั้งหมด -> เมื่อวันที่ : 2021-02-27 21:41:57
อาการของ ลมหายใจแผ่วเบา ลมหายใจละเอียด ในการทำสมาธิ เป็นอย่างไร
อาการของ ลมหายใจแผ่วเบา ลมหายใจละเอียด ในการทำสมาธิ เป็นอย่างไร รายละเอียดอาการของ ลมหายใจแผ่วเบา ในการทำสมาธิ เป็นการที่จะเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติเมื่อจิตมีความสงบนิ่ง ลมหายใจแผ่วเบาหรือลมหายใจละเอียดจะมาพร้อมกับจิตที่ละเอียดขึ้นตามกำลังของสมาธิ ผู้ฝึกฝนจะรู้สึกผ่อนคลาย ในขณะที่ลมหายใจจากที่เคยหายใจตามปกติ(ในที่ที่นี้ขอเรียกว่าลมหายใจยาว) แต่เมื่อใดก็ตามที่จิตเริ่มสงบลง ลมหายใจมันจะค่อยๆสั้นลงอย่างปราณีต ซึ่งไม่ใช่การบังคำให้ลมสั้นและมันจะสั้นเองตามธรรมชาติ ลมหายใจที่สั้นลงแต่มีความเบาคล้ายๆกับว่าค่อยจะได้หายใจ แต่จริงๆแล้วก็ยังหายใจอยู่ บางคนทำสมาธิอยู่ดีๆลมหายใจหายไปซะเฉยๆจนคิดว่าตนเองไม่ได้หายใจแล้วก็มี (ในที่นี้กล่าวถึงสมาธิระดับต้นที่ไม่ใช่ระดับฌาณ4) สรุป : ลมหายใจแผ่วเบา ลมหายใจละเอียด จะมีอาการคล้ายๆกับร่างกายไม่ค่อยหายใจ หรือหายใจเอาแค่ลมเค้ามานิดเดียวก็รู้สึกอิ่ม รู้สึกดี รู้สึกเพียงพอแล้ว ความรู้สึกถึงสายลมจะเบาบางและแตกต่างมากเมื่อเทียบกับการหายใจปกติในขณะที่ไม่ได้ทำสมาธิ การที่ลมหายใจละเอียดจะนำไปสู่การเข้าฌาณในระดับต้นได้ ดังนั้นหากคุณสามารถเข้าถึงสภาวะเหล่านั้นได้ให้พยายามฝึกฝนต่อไป ดูรายละเอียดทั้งหมด -> เมื่อวันที่ : 2021-01-09 15:59:03
ทำความเข้าใจกับ ปีติ ในสมาธิ(ฌาน) และรู้จักมากยิ่งขึ้น โดย อานาปานสติ ๑๖ ขั้น
ทำความเข้าใจกับ ปีติ ในสมาธิ(ฌาน) และรู้จักมากยิ่งขึ้น โดย อานาปานสติ ๑๖ ขั้น รายละเอียดบันทึกวันที่ : 07/02/2561 ก่อนหน้านี้ผมก็ฝึกสมาธิมาอย่างต่อเนื่อง มีทิ้งช่วงไปบ้างในบางโอกาสที่ไม่ว่างฝึก แต่ก็ยังมีความพยายามที่ไม่ลดละในการฝึก เหมือนในใจลึกๆรู้สึกว่าจะต้องฝึกฝนไปจนตลอดชีวิตนี้ ปีติ เป็นภาษาบาลีครับ เวลาภาษาไทยยืมมาใช้จะเป็นปิติครับ ถ้าแปลง่ายๆ ก็คือ ความดื่มด่ำ มาเข้าเรื่อง ปีติ กันบ้างดีกว่า หลังที่ฝึกฝนสมาธิมานานแต่ก็ยังไม่เคยเข้าใจถึงอารมณ์ปีติแบบจริงๆจังๆสักที เพราะอาการปีติในสมาธินั้นมีอยู่หลากหลาย บางทีก็คล้ายกับว่าตัวเราเบาลอย , บางที่ก็รู้สึกเหมือนหน้าเราคว่ำหกคะเมนตีลังกา บางที่ก็เหมือนขนลุกซู่ , บางทีก็เหมือนซู่ซ่าทั่วทั้งกาย ซึ่งทั้งหมดนี้ผมเคยเจอมาแล้ว และมันก็เกิดขึ้นแป๊บเดียวก็หายไป จนทำให้ผมไม่แน่ใจในเรื่องของปีติ เพราะมันเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและหายไปรวดเร็ว หรือผมตามรู้ไม่ทันอารมณ์ปีติกันนะ ?? และวันนี้ผมก็เข้าใจอารมณ์ของปีติแบบที่เข้าใจยิ่งขึ้นครับ ซึ่งเราสามารถตามรับรู้อารมณ์ปีติได้ต่อเนื่อง แล้วมันทำให้เราพัฒนาก้าวไปสู่ ฌาน2 ได้อย่างสมบูรณ์แบบยิ่งขึ้นโดยที่เราไม่มีความลังเลสงสัยเลยว่านั่นเราเข้าฌาน2 แล้ว มาดูแนวทางสู่การรู้ชัดอารมณ์ปีติในสมาธิ นะครับ ผมได้เรียนรู้ในเรื่องของการฝึกสมาธิแบบอาณาปานสติ 16 ขั้นมาครับ คือใช้วิธีรู้ลมหายใจเข้าออกเป็นฐานเหมือนกับอาณาปานสติทั่วๆไปครับ แต่เราจะไม่หวังผลในเรื่องของลำดับขั้นของ ฌาน ใดๆ โดยการฝึกอาณาปนสติ 16 ขั้นจะเน้นให้เรามีสติรู้ เกี่ยวกับอารมณ์ในสมาธิปัจจุบันที่เกิดขึ้นกับทุกลมหายใจ - จนถึงรู้เพื่อวางทุกสิ่งอย่าง - ซึ่งเป็นขั้นท้ายๆทำได้ยากครับ วิธีนี้เป็นเหมือนเป็นการฝึกสมาธิและสติให้เข้มแข็งขึ้นอย่างมาก และเป็นกรรมฐานเดียวที่เวลาก่อนเราจะตาย เราจะรู้ชัดเจนว่าลมหายใจสุดท้ายของเรานั้น จะหายใจเข้าแล้วตาย หรือหายใจออกแล้วตาย (ขนาดตอนจะตายสติยังคมชัดมากๆ เป็นเครื่องยืนยันได้ดีว่าตอนตายจิตเราจะเป็นสมาธิ) ผมจะกล่าวแค่ขั้นแรกๆนะครับ เอาแค่ถึงประมาณขั้นรู้ปีติและสุขก็พอครับ ขั้นที่ 1 : กำหนดรู้ลมหายใจยาว หายใจเข้า , กำหนดรู้ลมหายใจยาว หายใจออก (ลมหายใจยาว คือ ลมหายใจธรรมดา เหมือนที่เราหายใจปกติตอนลืมตานั่นแหละ ห้ามดัดแปลงโดยลากลมหายใจให้ยาวนะครับ) => เมื่อทำไปสักพัก สมาธิเราจะค่อยๆแนบแน่ขึ้นเรื่อยๆ แล้วลมหายใจของเราก็จะค่อยๆละเอียดและเบาบางลง (มันเป็นของมันเองโดยธรรมชาติ ไม่มีการบังคับลมหายใจ) ขั้นที่ 2 : กำหนดรู้ลมหายใจละเอียด หายใจเข้า , กำหนดรู้ลมหายใจละเอียด หายใจออก => ลมหายใจละเอียด ลักษณะของการหายใจจะสั้นลง ลมหายใจก็จะมีความเบาบาง เราสามารถรู้ชัดได้ด้วยตนเอง เมื่อทำไปสักพัก ลมหายใจเริ่มละเอียดขึ้นมาเรื่อยๆ ขั้นที่ 3 : กำหนดรู้ กายทั้งปวง หายใจเข้า , กำหนดรู้ กายทั้งปวง หายใจออก => โดยกำหนดให้สักแต่ว่าลมหายใจนั้นเป็นส่วนหนึ่งของธาตุในกาย ไม่ได้มีอะไร เป็นเพียงแค่ธาตุลมที่ไหลเข้าไหลออกเท่านั้น รวมถึงกำหนดรู้กายทั้งกายด้วย (กำหนดรู้ให้มันเป็นอย่างที่มันเป็น) ขั้นที่ 4 : ทำจิตให้ระงับกายสังขาร หายใจเข้า , ทำจิตให้ระงับกายสังขาร หายใจออก => (ในขั้น 4 นี้ ลมหายใจจะละเอียดมากๆจนเหมือนเราหายใจนิดๆเดียว ให้เรากำหนดรู้อารมณ์สภาวะทุกลมหายใจเข้า-ออก เพื่อสงบระงับด้วยจิตที่สงบนิ่งรวมถึงร่างกายด้วย โดยการปล่อยวางมันซะ) ในขณะนี้ด้วยลมหายใจที่ สั้น , เบา และละเอียดมากๆ ซึ่งถ้าเราไม่กำหนดสติตามรู้ท่วงทัน เราจะคิดไปเองว่าเรานั้นไม่ได้หายใจ หรือคิดไปว่าลมหายใจหายไป และนั่นก็จะทำให้เกิดความสงสัย ความกลัว และสมาธิก็จะไม่แนบแน่น จนทำให้สมาธิของเราไม่ก้าวหน้าสู่ขั้นที่ 5 ได้ หลังจากที่ลมหายใจละเอียดมากๆและกายสังขารสงบระงับ มันก็จะเป็นเหตุให้เกิด ปีติ ซึ่งตรงนี้ปีติมีหลากหลาย แต่เราให้กำหนดรู้ปีติที่นิยมใช้ในการฝึกกัน คือ อารมณ์ปีติที่ให้ความแผ่ซ่าน ซาบซ่าน มีความเย็นแผ่ออกไปทั่วทั้งร่างกาย ร่างกายจะได้รับความสุขในแบบที่ไม่เคยเจอในชีวิตประจำวัน ซึ่งความสุขทางใจที่สงบก็เริ่มปรากฎเมื่อปีตินี้เกิดขึ้น ปีตินี้ผมพอจะมีเทคนิคในการสร้างอยู่บ้าง แต่ก็ไม่รู้ท่านอื่นจะทำได้เหมือนกันหรือไม่ คือเมื่อปีติเล็กน้อยที่เป็นความซาบซ่านเริ่มเกิดขึ้นที่ร่ายกาย ให้เรากำหนดรู้ทั้งร่างกายของเราในขณะอารมณ์ปีติทีกำลังแผ่ซ่าน แล้วความซาบซ่านมันจะแผ่ไปทั่วร่างกายเองโดยอัตโนมัติ ถ้าใครมาถึงขั้นนี้ผมเชื่อว่าต้องกำหนดรู้กายทั้งกายของตนเองได้อย่างแน่นอน แล้วอารมณ์ปิติจะเกิดเด่นชัดต่อเนื่อง ซึ่งทำให้คุณสัมผัสกับอารมณ์ปีติที่ดี มีความสุข และสงบ อย่างที่ไม่เคยรู้มากว่า เราสามารถอยู่กับปีตินี้ยาวๆได้โดย กำหนดรู้อารมณ์ปีติหายใจเข้า และ กำหนดรู้อารมณ์ปีติหายใจออก พร้อมกับรู้ทั้งร่างกาย (คือการกำหนดคงไว้ซึ่งปีติ เพื่อให้เข้าใจอารมณ์ปีติให้ชัดเจน แต่ในที่สุดของการข้ามสู่ขั้นถัดไปเราก็ต้องให้ปีติสงบระงับอยู่ดีนะครับ) ขั้นที่ 5 : กำหนดรู้ปีติ หายใจเข้า , กำหนดรู้ปีติ หายใจออก => | ขั้นที่ 5 นี้ การกำหนดรู้เป็นไปเพื่อการระงับอารมณ์ปีติ นะครับ ถ้าปีติดับไป ความซาบซ่านทั้งหลายมันจะหายไปครับ คงเหลือไว้แต่ความสุขทางใจที่อิ่มเอิบเท่านั้น| ผมก็ขอกล่าวแค่ถึงขั้นที่5นะครับ ขั้นอื่นๆที่เหลือท่านใดสนใจก็สามารถไปค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมได้จาก google ครับผม ---------------- ก็ด้วยการฝึกตามที่กล่าวมาข้างต้นของอาณาปานสติ 16 ขั้น เราจะเห็นได้ว่าเป้าหมายหลักไม่ได้มุ่งเน้นที่การสร้าง ฌาน หรือลำดับขั้นของ ฌาน แต่จะมุ่งเน้นที่สติที่รู้ชัดแล้วค่อยๆวางอารมณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นภายในสมาธินั่นเอง โดยทั้งอาณาปานสติ 16 ขั้นนี้จะไม่มีการทิ้งฐานของลมหายใจครับ ไม่ว่าจะรู้อารมณ์อะไรก็ต้องห้ามลืมฐานของสติ นั่นคือลมหายใจ นั่นเอง ดังนั้นการฝึกแนวๆนี้จึงทำให้เราสามารถเข้าใจและรู้ชัดอารมณ์ต่างๆในสมาธิได้อย่างชัดเจน หากท่านใดเคยปฏิบัติแล้วเกิดอารมณ์ปีติ แต่ไม่ค่อยชัดเจน ก็จะมารู้ชัดเจนด้วยการฝึกสมาธิแบบ อาณาปานสติ 16 ขั้น ครับผม ------------------ ด้านล่างนี้จะเป็นอารมณ์ของ ปีติ ที่ถูกแบ่งไว้ 5 แบบ นะครับ ก๊อปเค้ามาอีกทีนึงท่านก็ลองดูนะครับว่าเคยสัมผัสปีติแบบไหนมาบ้างแล้ว ปีติ 5 (ความอิ่มใจ, ความดื่มด่ำ — joy; interest; zest; rapture) 1. ขุททกาปีติ (ปีติเล็กน้อย พอขนชูชันน้ำตาไหล — minor rapture; lesser thrill) 2. ขณิกาปีติ (ปีติชั่วขณะ ทำให้รู้สึกแปลบๆ เป็นขณะๆ ดุจฟ้าแลบ — momentary or instantaneous joy) 3. โอกกันติกาปีติ (ปีติเป็นระลอกหรือปีติเป็นพักๆ ให้รู้สึกซู่ลงมาๆ ในกาย ดุจคลื่นซัดต้องฝั่ง — showering joy; flood of joy) 4. อุพเพตาปีติ หรือ อุพเพงคาปีติ (ปีติโลดลอย เป็นอย่างแรงให้รู้สึกใจฟูแสดงอาการหรือทำการบางอย่างโดยมิได้ตั้งใจ เช่น เปล่งอุทาน เป็นต้น หรือให้รู้สึกตัวเบา ลอยขึ้นไปในอากาศ — uplifting joy) 5. ผรณาปีติ (ปีติซาบซ่าน ให้รู้สึกเย็นซ่านแผ่เอิบอาบไปทั่วสรรพางค์ ปีติที่ประกอบกับสมาธิ ท่านมุ่งเอาข้อนี้ — suffusing joy; pervading rapture) ---------------- การฝึกที่กล่าวข้างต้น อันที่ผมแนะนำอารมณ์ของปีติที่ใช้ในการฝึกถ้านำมาเทียบกันแล้ว น่าจะอยู่ในหมวดหมู่ที่ 5 ของอันนี้นะครับ (ผรณาปีติ) ทั้งหมดนี้ก็ได้จากประสบการณ์ของการฝึกฝนสมาธินะครับ ก็หวังว่ามันอาจจะเป็นแนวทางหรือประโยชน์กับท่านที่มีความมุ่งมั่นและกำลังศึกษาในด้านของการฝึกสมาธิครับผม ดูรายละเอียดทั้งหมด -> เมื่อวันที่ : 2020-03-10 21:45:01
แชร์ประสบการณ์นั่งสมาธิ ตั้งเป้าหมายไว้คือ ฌาน อัพเดตเรื่อยๆ ตามความก้าวหน้า
แชร์ประสบการณ์นั่งสมาธิ ตั้งเป้าหมายไว้คือ ฌาน อัพเดตเรื่อยๆ ตามความก้าวหน้า รายละเอียดแชร์ประสบการณ์นั่งสมาธิ ตั้งเป้าหมายไว้คือ ฌาน อัพเดตเรื่อยๆ ตามความก้าวหน้าแชร์ประสบการณ์นั่งสมาธิ ตั้งเป้าหมายไว้คือ ฌาน อัพเดตเรื่อยๆ ตามความก้าวหน้า เมื่อผมนั่งสมาธิและได้รับเทคนิค หรือปรากฎการต่างๆในสมาธิที่เกิดขึ้นและรู้เห็นด้วยตนเอง ผมจะนำสิ่งเหล่านั้นมาแชร์ เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนความรู้ , เป็นแนวทางสำหรับท่านที่มีความสนใจในการฝึกฝนนั่งสมาธิ มีท่านผู้รู้หลายๆท่านบอกไว้ว่าแสงสว่างจ้าอันสงบในสมาธิที่เกิดจากการมีจิตตั้งมั่นจนเป็น ฌาน นั้น ทำให้ผมอยากลองพิสูจน์ด้วยตนเองบ้างแล้วซิ เกริ่นนำเกี่ยวกับตัวเองก่อน ผมเป็นคนนึงที่อยากนั่งสมาธิ ไม่ใช่อยากละทางโลก ไม่ใช่อยากละกิเลส แต่เพียงแค่อยากรู้ว่า "ในสมาธินั้นมีอะไรดี ทำไมถึงมีคนชอบนั่งกัน" และขณะนี้มีโอกาส กำลังใจ และความตั้งมั้นที่อยากฝึกสมาธิแบบจริงจัง ผมก็เลยไม่รอช้าเริ่มฝึกสมาธิด้วยความอยากรู้อยากลอง ก่อนหน้านี้ ช่วงประมาณเดือนกันยายน ปี 2558 ผมเคยฝึกนั่งสมาธิด้วยความตั้งมั่น ตอนนั้นจำได้ว่านั่งแบบที่สุดของสมาธิแล้วนะ ผมนั่งได้ตั้ง 10 นาทีแน่ะ (แอบชมตัวเองว่าเราก็เก่งเหมือนกัน) แต่ก็ไม่เห็นจะได้เรื่องอะไรขึ้นมาเลย นั่งไปก็ดำๆมืดๆ และที่สำคัญเมื่อยๆ อยากออกจากสมาธิเร็วๆ การนั่งสมัยก่อนเป็นไปแบบไม่ต่อเนื่องเท่าไหร่ อยากนั่งก็นั่ง ไม่อยากก็ไม่นั่ง เอาที่สบายใจเลย ผ่านมาอีกสองเดือน เหมือนความตั้งมั่นจะคืบหน้าบ้างแล้ว ผมนั่งสมาธิได้ครึ่งชั่วโมง จำได้ว่าพอถึงช่วง 15 นาทีมือเริ่มชาแล้วมือก็หายไป พอใกล้ๆเครื่องชั่วโมงขาเริ่มชาแล้วก็เหมือนจะหายไป บอกตามตรงเมื่อยมากมาย อยากนั่งให้ถึงเป้าหมายครึ่งชั่วโมงเร็วๆ จากที่ฝึกฝนสมาธิผ่านมาหลายเดือน ผมไม่รู้อะไรเกี่ยวกับสมาธิเลย จะมีบ้างก็เรื่องของการตกภวังค์ (อาการวูบเหมือนเราสะดุงตื่นในขณะนั่งสมาธิ) และอาการเมื่อยที่เหมือนกับต้องฝืนร่างกายนั่งไปเพื่อให้ถึงจุดหมายของเวลา แต่สิ่งที่ทำให้ประทับใจก็คือ จากที่เคยนั่งได้ 10 นาที ตอนนี้ขยับมาเป็น 30 นาที ก็ถือว่าแอบดีใจนิดๆ จากนั้นผมก็ไม่เคยได้สนใจและนั่งสมาธิอีกเลย เพราะขี้เกียจนั่ง , ไม่เห็นความคืบหน้าเลยว่าในสมาธิมีอะไร และแล้วเวลาก็ล่วงเลยมาถึงเดือน กรกฎาคม ปี 2559 ความอยากนั่งสมาธิก็ประทุขึ้นมาอีก ผมเริ่มศึกษาเป็นจริงเป็นจังมากยิ่งขึ้นว่าต้องนั่งแบบไหนอะไรยังไง ตอนแรกรู้มาว่าต้องนั่งนานๆแล้วถึงจะไปสู่ความสงบของสมาธิที่แท้จริงได้ เอาวะ..เป็นไงเป็นกัน วันนั้นผมตั้งนาฬิกาปลุกไว้ 2 ชม. ด้วยความตั้งมั่นอย่างแรงกล้า ทำให้ผมได้รับรู้ความทรมานของร่างกายเมื่อเวลาผ่านไปหลังครึ่งชั่วโมงแรก ความเมื่อย ความปวด สุดจะบรรยาย แต่ก็เพราะความตั้งมั่น ผมอดทนนั่งสมาธิได้ถึง 1ชม. 45นาที โอ้โห...ทำไปได้ยังไงจากเดิมที่เคยนั่งได้แค่ 30นาที คงเป็นแรงศรัทธาและความเชื่อมั่นตั้งใจเลยทำให้ไม่ยอมแพ้ต่อความปวดเมื่อย แม้ผมจะลองนั่งนานเป็นชั่วโมงกว่าๆ ก็ไม่เคยรู้ว่าในสมาธิมีอะไร และแล้วมีอยู่วันหนึ่ง..จำได้ว่าวันนี้ขี้เกียจมาก นั่งแบบเฉยๆ แบบไม่สนใจอะไร นั่งๆมันไป นาฬิกาก็ไม่ตั้งปลุก ได้แค่ไหนก็แค่นั้นไม่อยากมาทนนั่งเมื่อยอีก ปรากฎว่า....เมื่อนั่งสมาธิไปเรื่อยๆ รู้สึกว่าร่างกายมันเบาแบบไม่เคยเป็นมาก่อน ลมหายใจแผ่วลง อยู่ๆแสงสีต่างๆก็มาวิ่งๆให้เห็นในขณะที่ผมหลับตาทำสมาธิอยู่ แสงวิ่งเป็นดวงๆเปลี่ยนสีสลับไปมา บางทีก็วนๆเป็นเส้นๆเหมือนสายรุ้ง ผมตื่นเต้นมากอย่างบอกไม่ถูก หัวใจที่เต้นแรงขึ้นจนรู้สึกได้ชัด กับการเพ่งแสงว่ามันคืออะไร ยังไง มันมีสีไรบ้าง วิ่งแบบไหน ยิ่งเพ่ง มันยิ่งค่อยๆหายไปอย่างช้าๆ แล้วมันก็ไม่กลับมาให้เห็นอีกเลย ผมออกจากสมาธิด้วยความดีใจ แล้วคิดว่าเรามีความคืบหน้าแล้วซินะ ในสมาธิมีแสงแปลกๆอย่างนี้นี่เอง คนถึงชอบนั่งกันนักกันหนา (ผมก็มโนไปเรื่อย ตามประสามือใหม่และไม่มีความรู้) ด้วยความรู้จากเมื่อวาน พอมาวันใหม่ ผมพกความมั่นใจมาเต็มร้อยว่าวันนี้ฉันต้องเห็นแสงนั้นอีกและต้องรู้ให้ได้ว่าคืออะไรกันแน่ และแล้วผมก็นั่งสมาธิแล้วหลับตาลง สิ่งที่ผมได้รับผมก็ไม่เห็นแสงมันมาวิ่งๆ แว๊บๆให้ผมเห็นอีกเลย ตอนนั้นเกิดคำถามมากมายว่าเราทำผิดพลาดตรงไหน และวันอื่นๆผมพยายามลองอีกหลายๆครั้งก็มีเห็นบ้าง แต่มันเห็น 2 วิ พอจะเพ่งดูมันก็หายไป ด้วยความสงสัยจึงหาข้อมูลต่อเกี่ยวกับแสง ก็ปรากฎว่าแสงเหล่านั้นมันจะปรากฎขึ้นมาเมื่อจิตเรานิ่งระดับนึง แต่มันจะหายไปเมื่อเราไปเพ่งมัน หลายๆท่าน หลายๆอาจารย์มีความรู้เกี่ยวกับสมาธิที่ผมศึกษาหาข้อมูลมา เขามักจะบอกว่าไม่ต้องไปสนใจมัน เพราะมันไม่ใช่แก่นสารหรือสาระสำคัญ ( แต่บางท่านใช้ประโยชน์จาการเพ่งแสงดวงๆวิ่งไปวิ่งมานี้จนได้ฌาณ ลองอ่านดูจิ : http://palungjit.org/threads/%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%AA%E0%B8%9A%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%93%E0%B9%8C%E0%B8%97%E0%B8%B3%E0%B8%AA%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%98%E0%B8%B4%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%9C%E0%B8%A1.493616/ แต่ผมทำวิธีนี้ไม่เป็นนะ ยิ่งอยากเพ่งมันยิ่งหายไป ) เมื่อผมทราบรายละเอียดเกี่ยวกับแสงแล้ว ผมเริ่มหาวิธีการนั่งสมาธิที่ถูกต้องยิ่งขึ้น ผมได้เรียนรู้การนั่งสมาธิแบบ "อานาปานสติ" ผมเรียนรู้จากอาจารย์ท่านนึงในอินเทอร์เน็ตที่ให้ความรู้ได้อย่างแจ่มแจ้ง ก็รู้ว่าฝึกสมาธิแบบอานาปนสติสามารถทำได้ทั้งนั่งหลับตาและขณะที่ลืมตาในชีวิตประจำวัน หลักการฝึกพื้นฐานก็ไม่มีอะไรมาก เพียงแค่รู้ลมหายใจเข้าออก หายใจเข้าก็รู้หายใจเข้า , หายใจออกก็รู้ว่าหายใจออก หายใจยาวก็รู้หายใจยาว , หายใจสั้นก็รู้หายใจสั้น ไม่ต้องบริกรรมพุทโธ ไม่ต้องดูท้องยุบพอง ผมคิดว่าง่ายและสะดวกดีผมจึงเลือกฝึกสมาธิแบบ อานาปานสติ การฝึกนั่งสมาธิ แบบอานาปานสติ หลังจากนี้ผมจะเริ่มฝึกสมาธิแบบอานาปนสติทุกวัน ตอนเช้าตื่นนอน และตอนค่ำก่อนนอน โดยฝึกเช้าประมาณ 1 ชม. และตอนค่ำประมาณ 1 ชม. เพื่อให้ได้เรียนรู้การฝึกสมาธิและวัดผลความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง แต่การนั่งสมาธิเราก็ควรรู้จักตัวที่จะมาขัดขวางสมาธิของเรากันเสียก่อน ทางธรรมมะเขาเรียกกันว่า นิวรณ์ 5 มาแนวนี้มือใหม่ๆก็ งง กันตามเคย ผมขอสรุปแบบภาษาชาวบ้านเพื่อให้ง่ายๆและสั้นๆที่สุด สิ่งที่เราต้องละให้ได้ตอนนั่งสมาธิคือ 1. ความชอบ 2. ความไม่ชอบ 3. ความลังเลใจ 4. ความฟุ้งซ่าน 5. ความง่วงซึม และความอยากทั้งหลายด้วย เหล่านี้คือสิ่งที่จะมาทำให้สมาธิของเราไม่ตั้งมั่น สำหรับท่านที่ต้องการอ่านละเอียๆเกี่ยวกับนิวรณ์ 5 ผมไปเจอเว็บนี้มาเขียนเข้าใจง่ายดี ลองไปศึกษาดูนะครับ นิวรณ์ 5 :: https://www.gotoknow.org/posts/261289&usg=AFQjCNE3CWzi0Beqy6aWhhhELRbBb4_4Xg ข้อมูลเบื้องต้น ที่ผมฝึกนั่งสมาธิแบบอานาปานสติอยู่ขณะนี้กล่าวคือ นั่งขัดสมาด นั่งหลังตรงให้รู้สึกสบายๆ ไม่เกร็งส่วนใดส่วนหนึงของร่างกายเป็นอันขาด ถ้าเกร็งให้คลายความเกร็ง นั่งหลับตา นั่งนิ่งๆห้ามขยับเป็นอันขาด แม้ยุงจะกัดในระหว่างนั่งสมาธิก็ตาม จากนั้นเพียงแค่รู้ลมหายใจเข้าออก หายใจเข้าก็รู้หายใจเข้า , หายใจออกก็รู้ว่าหายใจออก , หายใจยาวก็รู้หายใจยาว , หายใจสั้นก็รู้หายใจสั้น สำหรับการหายใจนั้นหายใจแบบธรรมชาติไม่ต้องไปดัดแปลงอะไร หายใจให้เต็มปอดลากยาวๆแบบไม่ต้องฝืนธรรมชาติ หายใจช้าหน่อยไม่ต้องรีบเร่งนักและก็ไม่ต้องช้าจนเกินไป ขอเตือนเรื่องสิ่งขัดขวางอีกครั้งหนึ่ง...แม้เป้าหมายสูงสุดในการนั่งสมาธิของเราจะมุ่งไปสูงสมาธิระดับฌาน ถ้ากำหนดเป้าหมายไว้แบบนี้คุณเองก็จะเริ่มถูกครอบงำด้วยความอยากให้ถึง ฌาน เร็วๆ สิ่งที่ต้องฝึกละให้ได้ ในขณะที่คุณกำหนดลมหายใจนั่งสมาธิอยู่ คือ A . :::: ความอยากทั้งหลาย อยากได้ , อยากรู้ , ความอยากเห็น ทุกอย่างที่เป็นความอยากละให้หมดสิ้นนะ หากเกิดขึ้นขจัดความอยากได้เพียงแค่รู้ รู้ว่าอยาก ในช่วงลมหายใจนั้นๆ แต่ไม่ต้องไปทำอะไรกับมัน หากลมหายใจถัดไป ยังมีความอยากอีก ก็รู้ต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าจิตจะปล่อยวางแล้วกลับมาดูลมหายใจเข้าออกต่อ B. :::: นิวรณ์ 5 ทั้งหมดนี้ก็ละเหมือนกับความอยากนั่นแหละ รู้อาการเหล่านั้นเฉยๆ เมื่อจิตมันไปเกาะติด 1. ความชอบ === หากชอบก็รู้ว่าชอบ ไม่ต้องไปอะไรกับมัน 2. ความไม่ชอบ === หากไม่ชอบ ก็รู้ว่าไม่ชอบ ไม่ต้องไปอะไรกับมัน 3. ความลังเลใจ หรือสงสัย === ก็รู้ไปไม่ต้องไปอะไรกับมัน 4. ความฟุ้งซ่าน === ก็รู้ไปไม่ต้องไปอะไรกับมัน ไม่ต้องไปคิดตามว่าเราฟุ้งซ่านเรื่องอะไร เช่น คิดถึงแฟน ก็รู้ว่าฟุ้ง , คิดถึงเมื่อไหร่นาฬิกาที่ตั้งไว้จะปลุก ก็รู้ว่าฟุ้ง 5. ความง่วงซึม === นอนพักผ่อนให้เต็มที่ แล้วอาการนี้จะไม่เกิด หากเกิดในระหว่างนั่งสมาธิให้ลองรู้ดูว่าเราง่วง แต่ถ้าไม่ไหวง่วงนอนจริง ก็ออกอยากสมาธิไปนอนซะ ฝืนนั่งไปก็ไม่ค่อยได้ประโยชน์ จำไว้ว่าการฝึกนั่งสมาธิ ก็คงเหมือนกับการหยอดกระปุกออมสินใบใหญ่ทีละ 1 บาท ขยันหยอดมันทุกวัน ต้องมีสักวันหนึ่งล่ะน่ะที่มันเต็ม ผมนี่หยอดวันละสองบาทเลย เช้า-ก่อนนอน เพื่อจะได้เต็มเร็วขึ้น อิอิ , จริงๆแล้วผมมีเวลาที่สะดวกเช้าและก่อนนอน ทำให้มีโอกาสเรียนรู้ได้อย่างต่อเนื่อง ความคืบหน้าในการฝึกสมาธิของฉัน เพื่อเป็นแนวทาง ทุกๆครั้งที่คืบหน้า ผมจะนำข้อมูลของเหตุการณ์ต่างๆในสมาธิที่ผมรับรู้ได้มาแชร์กันครับ ----------------------------------------------------- แรกสุดแห่งความตั้งใจ กลางเดือนกรกฎาคม 7/2559 ก้าวแรกของความมุ่งมั่น การนั่งสมาธิในช่วงแรกๆ บางท่านอาจจะนั่งนานไม่ได้ ขอให้นั่งตามเวลาที่เหมาะสมแล้วค่อยๆเพิ่มเวลาตามประสบการณ์ แต่การฝึกฉบับของผมในช่วงแรกนั้น ผมต้องการให้ร่างกายปรับตัวกับการนั่งนานๆโดยไม่กระดุกกระดิก โดยสร้างความเชื่อว่าตัวเองต้องทำได้ จากนั้นก็ตั้งเวลาปลุก 2 ชม. แล้วทดลองนั่งขัดสมาธิดู ทำแบบนี้อยู่ 7 วัน วันละ 1 ครั้ง ส่วนใหญ่ก็ไม่ถึง 2 ชม.หรอก บางครั้งก็ทนความเมื่อยได้ 45 นาที , บางครั้งก็ทนความเมื่อยได้ 1 ชั่วโมง 15 นาที เคยนั่งทนความเมื่อยได้สูงสุด 1 ชั่วโมง 45 นาที ก็แค่นั่งเฉยๆ ตั้งใจนั่งนานๆ ตั้งใจนั่งให้นิ่งๆไม่ขยับ ยุงกัดก็กัดไปดิไม่สน การฝึกนี้ไม่ได้มีอารมณ์สมาธิหลอก แต่เพื่อปรับร่างกายให้ชินกับการนั่งนานๆได้แค่นั้นเอง ----------------------------------------------------- อัพเดตความคืบหน้าการนั่งสมาธิกันหน่อย 21/7/2559 เริ่มทำความรู้จักกับกิเกส มาเริ่มนั่งสมาธิกันจริงจังเสียที ด้วยการรู้ลมหายใจเข้า-รู้ลมหายใจออก ตามที่ได้ศึกษามา , ละอาการอยากทั้งปวง , ละนิวรณ์ 5 ทั้งปวง ฟังดูแล้วเหมือนจะง่ายนะ แต่เอาเข้าจริงๆ นั่งไปนั่งมา จิตไม่ได้มารู้ลมหายใจเข้าออกซะและ ไปคิดโน่นคิดนี่ (เรียกว่าอาการฟุ้ง) , บางครั้งก็อยากให้ถึงฌานเราเร็วๆ(เรียกว่าความอยาก) , พอนั่งการอาการเมื่อยเข้าหน่อยก็เกิดความท้อถอย(เรียกว่าความไม่ชอบ) บางทีก็เห็นแสงวิ่งๆบ้างแป๊บนึงก็เกิดอยากเห็นอีกและยิ่งเพ่งมันก็ยิ่งหายไปแล้วหาทางกำหนดจิตว่าทำไงมันจะมาให้เห็นอีก(เรียกว่าความอยาก + ความชอบ + ความสงสัย) มาพิจารณ์ดูอีกทีเห็นได้ว่า ไอ้สิ่งที่เราอยากละทิ้งเสียให้หมด มันกลับมาหาเราเองทั้งหมดเลยโดยที่เราไม่ทันได้รู้ตัว และเผลอไปกับมันตามอำนาจของกิเลส สงสัยสติและสมาธิเรายังไม่แข็งแรงพอที่จะรู้ทันสิ่งเหล่านี้ ----------------------------------------------------- อัพเดตความคืบหน้าการนั่งสมาธิกันหน่อย 5/8/2559 รู้ลมหายใจต่อเนื่อง การฝึกยังเดินทางไปอย่างผู้อ่อนประสบการณ์ แต่ก็ยึดหลักการต่างๆตามที่ศึกษามา และตามประสบการณ์ก่อนหน้านี้ที่พบเจอมา ตลอดเวลาเกือบๆ 1 ชม. ของการนั่งสมาธิ ผมรู้ตัวเองดีว่า ผมสามารถรับรู้ลมเข้า-ออกได้เกือบทั้ง 1 ชั่วโมง แต่ก็มีบ้างที่จิตมันเผลอไปคิดเรื่องอื่นๆ แต่ก็พยายามดึงจิตกลับมา ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของอาการเมื่อยขา และจิตจะวิ่งไปจับที่นาฬิกาว่าเมื่อไหร่จะถึงเวลาหยุดนั่งสมาธิซักที และนี่เองก็คืออุปสรรคมากๆในช่วงแรกๆนี้ ----------------------------------------------------- อัพเดตความคืบหน้าการนั่งสมาธิกันหน่อย 17/8/2559 แสงวิ่งๆแว๊บ กับการรู้จักลมละเอียด ในขณะที่ผมเข้าสมาธิอยู่นั้น ผมเริ่มเห็นแสงเป็นดวงๆ มีสีสลับกันไป แล้วแต่มันจะมาให้เห็น แต่ผมรู้ทันว่าเจ้าแสงพวกนี้ไม่ใช่สาระสำคัญ ผมเลยไม่สนใจ แล้วตั้งใจดูลมเข้าออกต่อไปเรื่อยๆ เริ่มมีความรู้สึกถึงลมหายใจที่ละเอียดขึ้นเมื่อนั่งสมาธิไปสัก 15 นาที แม้เวลาจะผ่านมาครึ่งชั่วโมงก็ไม่เคยรู้สึกเมื่อยขาเลยแม้เวลาจะผ่านมา 45 นาทีก็ตาม รอบนี้นั่งสมาธิไปทั้งหมด 45 นาที ----------------------------------------------------- อัพเดตความคืบหน้าการนั่งสมาธิกันหน่อย 18/8/2559 พบแสงแบบใหม่ เหมือนไฟฉายส่องตา วันนี้ผมนั่งสมาธิตามปกติ มีความคืบหน้ามาอีกหน่อยเพื่อมาเล่าสู่กันฟัง ผมปฏิบัติการนั่งสมาธิตามหลักการเหมือนเดิม และทุกๆครั้งที่นั่งก็มักเห็นแสงดวงๆวิ่งไป วิ่งมา แว๊บไป ว๊าบมาให้เห็นบ่อยๆจนเป็นเรื่องปกติ ซึ่งผมไม่ได้ให้ความสำคัญหรือสนใจอะไรอีกต่อไป และวันนี้สิ่งทีผมพบอีกมันเป็นแสงแบบใหม่ ไม่ใช่แบบที่วิ่งๆ แต่จะเป็นแสงวาปขึ้นมาเต็มสองตา อาการจะเหมือนกับเราเอาไฟฉายมาส่องตาในขณะที่เราหลับตาอยู่ แต่ความจ้าจะไม่แรงเท่ากับแสงไฟฉาย แต่จะเป็นแสงสว่างสีหม่นๆ จะไม่วิ่งไปวิ่งมา จะสว่างจ้าให้เห็นเป็นช่วงๆ แต่ก็เกิดขึ้นไม่กี่วินาทีก็หายไปเป็นความมืด เพราะใจเกิดอาการสงสัย(ความสงสัย) เพราะไม่เคยเห็นมาก่อนเลยไม่ชิน ทำให้จิตไม่ตั้งมั่น แล้วก็มีความรู้สึกว่าอยากเห็นอีกเพราะไม่เคยเห็นมาก่อนหน้านี้(ความอยาก) เลยทำให้ไม่เห็นอีกเลย นั่งไปก็เริ่มเมื่อยขา เลยออกจากสมาธิด้วยความดีใจที่ได้คนพบอะไรใหม่ๆอีกแล้ว เลยมานอนพักที่โซฟา ด้วยความเพลียเลยแอบหลับไปครู่หนึ่ง และเมื่อรู้สึกตัวตื่นมาพร้อมกับตั้งจิตลองกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออกดู ปรากฎว่าแสงสว่างแบบตอนนั่งสมาธิปรากฎอีกแล้ว สว่างกว่าที่เห็นในสมาธิอีก ยิ่งเห็นก็ยิ่งสงสัยและอยากดูต่อ เพียงแค่ 1-3 วิ แสงก็หายไปแบบไม่กลับมาอีกเลย และนี่ก็คือประสบการณ์และความคือบหน้าของวันนี้ รอบนี้นั่งสมาธิไปทั้งหมด 40 นาที ----------------------------------------------------- อัพเดตความคืบหน้าการนั่งสมาธิกันหน่อย 22/8/2559 ค้นพบวิธีค้งไว้ซึ่งแสงสว่างแบบต่อเนื่อง เข้าสมาธิโดยการดูลมหายใจไปเรื่อยๆ เพิ่มความชัดเจนยิ่งขึ้นโดยการสังเกตว่า ทุกๆลมหายใจเข้าออก หากเราไม่ได้ฟุ้ง จะเห็นว่าช่วงวินาทีสั้นๆในระหว่างที่เรากำลังหายใจนั้น จะมีช่วงที่เราลืมรับรู้ว่าเรากำลังหายใจเข้าหรือหายใจออกอยูที่ขณะนั้นๆ เช่น ช่วงเวลาที่ลมหายใจหยาบนั้น ฉันกำลังสูดหายใจเข้าอยู่ ทั้งๆที่ยังสูดหายใจเข้าไม่สุด ระหว่างนั้นฉันลืมไปว่าฉันกำลังหายใจเข้าอยู่ ถ้าอาการนี้เกิดขึ้นแล้ว. เมื่อเรารู้ตัวทัน ให้เราบอกกับตัวเองว่า "เหม่อ" เพื่อให้จิตเกิดการรับรู้ ยอมรับความจริง และกลับมามีสมาธิแบบที่มีสติรู้ช่วงลมหายใจเข้า-ออก อีกครั้ง เชื่อเถอะว่าอาการนี้จะเกิดบ่อยครั้งมากมาย ขอให้สังเกตและนำไปใช้ เพื่อประคองสติและสมาธิให้อยูกับตัวตลอดเวลา เมื่อนั่งไปสักพักหนึ่งสติและสมาธิที่มั่นคงพอประมาณ ก็จะเห็นแสงสว่างสีหม่นๆ ถ้ายังไม่นิ่งมากพอก็จะเป็นแสงวิ่งไปมา หรือวาบไปวาบมา ถ้าจิตนิ่งหน่อยก็จะเป็นความแสงสว่างสีหม่นๆ คล้ายกับใครเอาไฟฉายเล็กๆ แสงอ่อนๆ มาส่องตาของเราตอนที่เราหลับตาอยู่ อารมณ์จะประมาณนั้น ซึ่งแสงนี้จะไม่วิ่งไปวิ่งมา จะเป็นแสงสีหม่นที่นิ่งๆเฉยๆ สว่างพอที่เรารับรู้ได้ (ตรงนี้ไม่ใช่แก่นสาร สำหรับมือใหม่อาจจะตกใจเมื่อได้เห็น แต่ถ้าคนที่เคยนั่งสมาธิมาสักระยะหนึ่งจะเฉยๆไม่สนใจ) (ถ้าเราไปสนใจ และยึดติดกับแสงที่เห็น แล้วอยากให้แสงคงอยู่ แต่ด้วยความไม่เที่ยง แสงนั้นจะรีบหายไป แล้วเราก็จะอยากเห็นมันอีก แต่มันก็จะไม่ออกมาให้เห็นซะที จนจิตเราเริ่มจะทยานอยาก ตามมาด้วยความฟุ้งซ่าน กล่าวคือ "ความอยาก" เป็นอุปสรรคในการฝึกสมาธิ)(เตือนมือใหม่ : หากเห็นแสงต่างๆที่ปรากฎ ก็ให้รับรู้ว่าเห็น ไม่ต้องสนใจ ไม่ต้องอยากอะไร ไม่ต้องให้ความสำคัญ ตั้งใจรู้ลมหายใจต่อไป ) ในขณะที่เราตั้งจิตรับรู้ลมหายใจ หากสังเกต แสงสว่างสีหม่นที่เหมือนกับคนเอาไฟฉายมาส่งหน้าตอนหลับตามันจะมาแบบแว๊บเดียว ไม่นานก็หายไป แล้วพอจิตนิ่งอีกมันก็จะสว่างมาอีก จะสลับกันไปเรื่อยๆ หากสังเกตให้ดี ลมหายใจจะเริ่มละเอียดขึ้นมาอีกระดับนึง ทีนี้สิ่งใหม่ที่ผมได้ค้นพบเป็นเหมือนประตูที่จะเดินทางไปสู่สมาธิที่นิ่งยิ่งขึ้นคือ "การรับรู้ร่างกายจากภายใน + การรับรู้ลมหายใจเข้า-ออก" การรับรู้ร่ายกายจากภายใน มันคือการรับรู้ถึงความรู้สึกของร่างกาย ในขณะที่จิตเราตั้งมั่นด้วยสมาธิ สิ่งที่ผมรับรู้ได้คือ ร่างกายที่เบาและรับรู้ถึงท่านั่งที่เป็นขัดสมาธิอยู่ แต่ไม่ใช่มุมมองจากการที่ให้คนมาอยู่ตรงหน้าแล้วมองตัวเรานั่งสมาธิ แต่ความรู้สึกที่สัมผัสได้จะเป็นมุมมองจากภายในที่เห็นตัวเองนั่งขัดสมาดอยู่ในท่านั่งสมาธิ แขน มือ หัว ตัว หลังตรง ขาที่ขัดกันไว้ จะรู้สึกได้ทั้งหมดอย่างชัดเจน อาจจะอธิบายด้วยคำพูดยากหน่อย มันเป็นเรื่องของความรู้สึก ต้องลองทำดูถึงจะรู้ได้เองนะ เมื่อทำการรับรู้รับลมหายใจและร่างกายแล้ว จิตผู้ดู ก็จะถอยออกมา(มันเป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นเอง) จิตจะมองเห็นร่างกายกำลังหายใจเข้าออก(มองเห็นจากภายในด้วยความรู้สึก) โดยที่เรายังคงรับรู้ลมหายใจเข้าออกเหมือนเดิม สิ่งที่รับรู้ได้อีกคือ แสงสว่างสีหม่นๆบางทีมันก็สว่างจ้ามากยิ่งขึ้น บางทีมันก็หรี่ลงไป แต่แสงมันไม่หายไป มันคงที่อยู่กับความสว่างสีหม่นนี้ไม่หายไปไหน (เราก็เห็นมันเฉยๆ ไม่ต้องไปอยากเห็น มันจะมาให้เห็นเอง) และรับรู้ได้อีกว่าลมหายใจละเอียดขึ้นอีกระดับหนึ่ง และลมหายใจเริ่มแผ่วเบาลง จากที่หายใจได้ยาว ตอนนี้เหลือหายใจได้สั้นลงและแผ่วๆ แต่ก็รู้สึกสบายไม่อึดอัด เหล่านี้เองก็เป็นประสบการณ์ใหม่ของผมในการนั่งสมาธิที่รู้สึกได้ถึงความคืบหน้า และเป็นแนวทางที่จะนำใช้ในการฝึกสมาธิในวันถัดๆไป แสงที่สว่างหม่นๆที่ผมเห็นในสมาธิ มันคงเป็นแสงของจิต ที่กิเลสต่างๆบดบังอยู่ ซึ่งกิเลสประกอบไปด้วย ความอยาก , ความฟุ้งซ่าน และความสงสัย ซึ่งผมเองคงยังกำจัดสิ่งเหล่านี้ไม่หมด ผมคิดว่า จิตที่นิ่ง จิตที่รวมเป็นหนึ่งเดียว จะทำให้เราเห็นแสงสว่าง เคยมีผู้รู้หลายๆท่านบอกว่าการนั่งสมาธิจนถึง ฌาน( อ่านว่า ชาน) นั้น ผู้ที่เข้าถึงฌาณจะเห็นแสงสว่างจ้าดุจเอาพระอาทิตย์มาปรากฎตรงหน้าก็ว่าได้ ซึ่งสามารถมองเห็นได้ด้วยจิตขณะนั่งสมาธิ ซึ่งไม่ได้มองเห็นด้วยตา แสงสว่างอันมหาศาลนั้นไม่ทำให้แสบตา แต่กลับทำให้รู้สึกสบาย สงบ และมีความสุขอยู่กับสถานที่แห่งแสงสว่างแห่งนั้น อาจารย์บางท่านก็บอกว่า นั่นคือแสงของดวงจิต ปกติเรานั่งสมาธิหลับตาแล้วเห็นเป็นดำๆมืดๆ ก็เพราะว่ากิเลสต่างๆมันบดบังเอาไว้ ชาตินี้ผมเองก็ไม่รู้ว่าจะมีบุญได้ถึงฌานกับคนอื่นเค้าบ้างหรือเปล่า แต่ก็ฝึกฝนไปเรื่อยๆ เกิดมาเป็นมนุษย์ชาตินี้ทั้งที มีโอกาสฝึกสมาธิตามแบบพระพุทธเจ้าก็ไม่เสียทีที่เกิดมา ถึงจะเป็นคนที่กิเลสหนา แต่ผมก็ตั้งใจและพยายาม ไม่ย่อท้อ เพื่อที่สมาธิที่ฝึกฝนนำมาพัฒนาสติและปัญญาในการรับรู้ชีวิตประจำวันตามแบบอย่างของพุทธศาสนา ^^ รอบนี้นั่งสมาธิไปทั้งหมด 50 นาที ----------------------------------------------------- อัพเดตความคืบหน้าการนั่งสมาธิกันหน่อย 23/8/2559 เมื่อลมหายใจของฉันหายไป ผลจากการรับรู้เทคนิคใหม่ๆในเมื่อวาน ทำให้ผมเจออะไรที่ใหม่กว่าในวันนี้ วันนี้ผมนั่งสมาธิโดยยึดรูปแบบการฝึกฝนของเมื่อวานเป็นหลัก ทำให้จิตตั้งมั่นและมีสมาธิพร้อมกับสติมากยิ่งขึ้น เมื่อผมนั่งสมาธิไปเรื่อยๆไม่ถึงครึ่งชั่วโมง จิตผมก็นิ่งแล้วแสงสว่างสีหม่นเริ่มปรากฎให้เห็นอีกครั้งหนึ่ง ลมหายใจเริ่มแผ่วลงอีกเช่นเคย ทุกๆครั้งที่จ้ามากขึ้นลมหายจะก็จะสั้นมากๆด้วยเช่นกัน(เหมือนคนหายใจถี่) ซึ่งมันเป็นไปเองตามร่างกาย เราไม่ได้ไปบังคับให้มันเป็นนะในเรื่องของลมหายใจสั้นลงและแผ่วลง แต่รอบนี้จิตเริ่มรับรู้ได้ว่าทุกๆครั้งที่ลมหายใจแผ่วลงไปเรื่อยๆ จิตที่เคยรู้ลมหายใจเข้า-ออก มันจะวิ่งไปจดจ่ออยู่กับแสงสว่างสีหม่นเองแบบอัตโนมัติ โดยที่เราไม่ได้ตั้งใจ ผมเลยให้คำจำกัดความกับเหตุการณ์นี้ว่า "ลมหายใจเปลี่ยนเป็นแสง" สังเกตดีๆก็เหมือนกับจิตของฉันแอบไปเพ่งแสงโดยไม่รู้ตัว เมื่อตั้งสติได้แล้วฉันก็นำจิตกลับมารู้ลมหายใจเข้าออกที่สั้นๆและแผ่วบางอีกครั้งหนึ่งอย่างมุ่งมั่นด้วยสติ และแล้วสิ่งที่ไม่เคยเจอก็เกิดขึ้น อยู่ดีๆลมหายใจของฉันก็หายไป จิตของฉันไม่รู้ลมหายใจอีกแล้ว เหมือนฉันนั่งแล้วไม่หายใจ ฉันไม่สามารถจับลมหายใจได้เลย แต่ฉันไม่อึดอัดแต่กลับรู้สึกโล่ง สบาย สงบ หูไม่สนใจเสียงภายนอก แสงสว่างเริ่มคลายตัวเป็นเส้นๆมีสีต่างๆแล้วก็หายไปเป็นความมืด ตอนนี้ฉันรู้สึกว่างเปล่าไม่มีลมหายใจให้จิตเกาะจับเพื่อให้จิตสงบมีสมาธิ ฉันเริ่มเกิดความสงสัยว่าเราจะเอาไงต่อดี ฉับรับรู้สึกไปที่ท้องว่าฉันยังหายใจอยู่หรือเปล่า ก็รู้สึกได้แผ่วๆว่าท้องของฉันยังขยับอยู่และรู้สึกถึงหัวใจที่เต้นเป็นจังหวะ ก็เพราะร่างกายยังหายใจอยู่นั่งเอง แต่ฉันก็กลับมารู้ถึงลมหายใจอีกครั้งเพราะจิตไม่ตั้งมั่น เหตุการณ์นี้เกิดกับฉันเป็นครั้งแรกทำให้ฉันเกิดความสงสัย ปรากฎการนี้จึงค่อยๆเริ่มคลายตัวเพราะความสงสัยทำให้สมาธิไม่เกิดความตั้งมั่น เมื่อคลายตัวจะกลับมาอยู่ที่ลมหายใจแผ่วๆ แต่ไม่มีแสงให้เห็นแล้ว ฉันเริ่มเมื่อยขาและจึงตัดสินใจออกจากสมาธิ รอบนี้นั่งสมาธิไปทั้งหมด 55 นาที ----------------------------------------------------- อัพเดตความคืบหน้าการนั่งสมาธิกันหน่อย 24/8/2559 - 18/01/2560 เข้าสู่ภวังค์ และขอสรุปแบบโดยย่อของระยะเวลาฝึกฝนทั้งหมดนี้ การฝึกฝนยังคงฝึกไปเรื่อยๆ มีทั้งท้อบ้างเพราะไม่สามารถทำให้อารมณ์สมาธิเหมือนเดิมตามที่หวังได้ มีทั้งดีใจบ้างที่ได้ประสบการณ์ใหม่ๆในสมาธิ และมีทั้งขาดช่วงการฝึกไปหลายๆอาทิตย์บ้างก็เพราะว่าไม่มีเวลาว่างในการฝึกนั่นเอง ผมจะมาขอสรุปโดยรวมของเหตุการณ์และความรู้ในสมาธิที่เกิดขึ้นบ่อยๆในช่วงเวลาแห่งนี้ การฝึกผมยังคงอยากรับรู้เรื่องของแสงสว่างในสมาธิ ทั้งๆที่รู้ดีว่าแสงนั้นมันไม่เที่ยง มันเกิดขึ้นแล้วมันก็หายไป แล้วผมก็ยังอยากรู้อยู่ดี และเป็นเรื่องจริง ที่ทุกครั้งแสงเกิดปรากฎ เมื่อผมไปรู้แสง ความตั้งมั่นของลมหายใจจะขาดหายไป ทำให้สมาธิไม่มีความตั้งมั่นที่แน่นอน เรื่องถัดมาก็เป็นเรื่องของภวังค์ ที่เกิดบ่อยๆในช่วงนี้ อาการของภวังค์จะคล้ายๆกับเราเคลิ้มหลับไป แต่จริงๆแล้วเราก็ไม่ได้หลับหรอก ถ้าบอกว่าเคลิ้มน่าจะอธิบายอารมณ์ได้ใกล้เคียงมากสุด ซึ่งช่วงที่เคลิ้มนั้น จิตจะไม่ตั้งมั่นอยู่กับลมหายใจ แล้วก็มักปรากฎภาพต่างๆขึ้นมาให้เราเห็น คล้ายๆกับภาพตอนเราฝันนั่นแหละ บางทีก็เป็นภาพคนในสถานที่ต่างๆ บางที่ก็เป็นภาพของสิ่งของ ซึ่งมันจะเกิดปรากฎให้เราเห็นแว๊บนึงพอสังเขป แล้วก็จะเหมือนตกวูบกับมาตั้งมั่นลมหายใจเหมือนเดิม จากการค้นคว้าหาข้อมูลพบว่า นี่คือนิมิต แต่เป็นนิมิตในสมาธิขั้นต้น ซึ่งไม่มีประโยชน์อะไรเลย เพราะจิตมันดิ่งไปสู่ภวังค์จิต ว่ากันว่าภวังค์จะเป็นภาวะบางๆ ขั้นอยู่ระหว่างการหลับกับการตื่น ก็น่าจะเป็นอาการเคลิ้มดีๆนั่นเอง อิอิ สำหรับการเกิดภวังค์นั้น ไม่ได้ให้ผลดีเลย(สำหรับเรานะ) ร่างกายจะอ่อนเพลียหลังจะออกสมาธิ ไม่พร้อมที่จะมั่งมั่นในสมาธิต่อ พอออกจากภวังค์แล้วออกจากสมาธิ จะได้ผลลัพธ์คือ ต้องนอนอ่ะ รู้สึกเหมือนง่วง ทั้งๆที่ก่อนนั่งสมาธิเราก็ไม่ง่วงนะ ปกติดีเลย แต่ถ้าวันไหนเข้าสมาธิแล้วเกิดภวังค์เมื่อไหร่ ก็เมื่อนั้นเลย ... ทำเอาเราง่วงและเพลียๆทุกที ตรงนี้เราขอจบภาค 1 ของสมาธิที่เราฝึกฝนนะ ซึ่งภาคสองก็จะพูดถึงการเข้า ฌาน ล่ะนะ เพราะเราเข้าฌานได้แล้ว ซึ่งเราศึกษาและวัดผลจากอารมณ์สมาธิและความตั้งมั่น + อาการณ์ต่างๆ + หลักการ เราก็จะเอาประสบการณ์มาการเข้าฌานที่เราสามารถเข้าได้แล้วมาบอกต่อท่านทั้งหลายได้มาฝึกฝนกันนะ ----------------------------------------------------- ประสบการณ์ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นจริง เขียนแบบตรงไปตรงมาของผู้อ่อนหัดในด้านสมาธิ หากท่านใดเป็นมือใหม่เหมือนกับผม หรือท่านใดที่ีมีความรู้ก็นำประสบการณ์มาแชร์กันได้ เพื่อเป็นประโยชน์และเป็นแนวทางกับผู้ที่สนใจในการฝึกนั่งสมาธิ สืบต่อไป ดูรายละเอียดทั้งหมด -> เมื่อวันที่ : 2020-03-10 18:45:30 |
บทความแนะนำ |